พ.ศ. 2495
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เดิมชื่อ กองเผยแพร่การศึกษา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 สังกัด กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่โฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการศึกษา แนะนำ การศึกษาและอาชีพ โดยมีคุณหญิงอัมพร มีศุข เป็นหัวหน้ากองเผยแพร่การศึกษาเป็นคนแรก
พ.ศ. 2497
รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการใช้วิทยุเพื่อการศึกษา จึงมีมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สถานีวิทยุศึกษา” ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สังกัดกองเผยแพร่ เริ่มส่งการกระจายเสียงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2497 ออกอากาศเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ในสาขาต่างๆ และในปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมวิชาการ พ.ศ. 2497 แก้ไขใหม่ให้โอนกองเผยแพร่การศึกษา ไปขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2500
หลังจากที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุ เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนแล้วต่อมาใน พ.ศ. 2500 กองเผยแพร่การศึกษา ได้เริ่มการทดลองใช้วิทยุ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนซึ่งเรียกว่า “วิทยุโรงเรียน” เริ่มดำเนินการออกอากาศรายการใน พ.ศ. 2501 และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2502 กองเผยแพร่การศึกษา ได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรก โดยออกอากาศรายการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะการฟ้อนรำ และการดนตรีของไทยเรียกชื่อรายการว่า “นาฎดุริยางควิวัฒน์” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในรายการบันเทิงภาคสุดท้าย เดือนละ 1 รายการ
พ.ศ. 2515
รัฐบาลได้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการใหม่ โดยรวมงานการกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์ งานผลิตเอกสาร วารสารของกองเผยแพร่การศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง งานผลิตโสตทัศนูปกรณ์ของกรมวิชาการ และแผนกโสตทัศนศึกษา กรมสามัญศึกษา มารวมเข้าด้วยกันและตั้งเป็น “ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา” สังกัดกรมวิชาการตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2515
พ.ศ. 2522
รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 และได้โอนศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน
พ.ศ. 2522
รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียง ตามโครงการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 5 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง 2527 ในส่วนหนึ่งของโครงการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างอาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาขึ้นใหม่ พร้อมห้องบันทึกเสียง และห้องผลิตรายการวิทยุ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงได้ย้ายที่ทำการจากเดิม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ มาอยู่ ณ อาคารแห่งใหม่ ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2526
พ.ศ. 2527
กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้ต่อเติมอาคารด้านทิศตะวันตกของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อเป็นศูนย์ผลิตรายการวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตรายการ เสร็จสมบูรณ์และเริ่มจัด และผลิตรายการวิดีโอเทปอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนมกราคม 2529
พ.ศ. 2537
หลังจากที่งานผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี กระทรวงศึกษาธิการโดยความร่วมมือของมูลนิธิไทยคม ได้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ETV ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมอบหมายให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นผู้ดำเนินงาน และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ จากกรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2542
พ.ศ. 2546
กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่เป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิ การ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราช การกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 โดยเริ่มกำหนดปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา จึงต้องสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทวงศึกษาธิการเป็นต้นมา
พ.ศ. 2551
สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2566
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และยกฐานะ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็น "กรมส่งเสริมการเรียนรู้" โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นไป 60 วันหรือตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน และ ตามกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 เรื่องการจัดโครงสร้างการแบ่งงานภานในของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้เปลี่ยนชื่อ "ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา" เป็น "ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้" เป็นหน่วยงานสังกัด กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
|
ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (ศท.) เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีประสบการณ์ในการดำเนินงานยาวนานกว่า 70 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็น "กองเผยแพร่การศึกษา" ในปี พ.ศ. 2495 ที่มุ่งหมายเผยแพร่คุณค่าของการศึกษา และแนะนำการศึกษาและอาชีพให้แก่ประชาชนทั่วไป ในปี พ.ศ. 2515 ภายหลังการปรับโครงสร้างการบริหารราชการ ศูนย์ฯ ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา" และมีหน้าที่ในการผลิตและเผยแพร่สื่อการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษาในทั้งระบบโรงเรียนและการศึกษานอกระบบ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัยในกลุ่มประชาชนทุกกลุ่ม ในปี พ.ศ. 2522 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้โอนมาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน และในปี พ.ศ. 2546 โอนมาอยู่ภายใต้สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้ย้ายไปสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 เมื่อสำนักงานกศน. ได้รับการยกฐานะเป็น "กรมส่งเสริมการเรียนรู้" ซึ่งทำให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้" และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาให้ทันสมัยและมีคุณภาพ พร้อมทั้งขยายโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ในปัจจุบันมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการจัดผลิตรายการวิทยุเพื่อการศีกษา รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สื่อสำหรับคนพิการ และสื่อออนไลน์ สามารถรับชม รับฟัง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพพร้อมเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต |
|
ETV บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีทางภาพและเสียงในการพัฒนาการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ จึงได้ริเริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และในปี พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ หรือ ETV ขึ้นอย่างเป็นทางการ ETV ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในการผลิตรายการการศึกษา และเพิ่มช่องทางการรับชมให้สะดวกมากยิ่งขึ้นในยุคดิจิทัล โดยผู้ชมสามารถรับชมผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ จานรับสัญญาณ KU- BAND ช่อง 180 และ 371 HD, GMMZ ช่อง 332 (HD), DTV ช่อง 64 และ 252, AIS Play ช่อง 716, PSI ช่อง 110, SUNBOX ช่อง 112 และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงการรับ ชมผ่านเว็บไซต์ www.etvthai.tv วิทยุศึกษา สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยุศึกษาก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวิสัยทัศน์ในการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารให้แก่ประชาชนด้วยความสะดวกและรวดเร็วผ่านคลื่นวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบัน วิทยุศึกษาได้ขยายการเข้าถึงสื่อให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยสามารถฟังรายการได้ผ่านคลื่น FM ความถี่ 92 MHz, ระบบดาวเทียมช่อง R 30 และการฟังผ่านเว็บไซต์ www.moeradiothai.net โดยเนื้อหารายการครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะชีวิต การอนุรักษ์วัฒนธรรม และการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี |
|
|
การผลิตสื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการเรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการทุกประเภท เช่น การผลิตหนังสือเสียงสำหรับผู้ที่เข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ได้ยาก, สื่อภาพนูน, รายการวิทยุและโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับคนพิการ, รวมทั้งสื่ออักษรเบรลล์ที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ http://www.braille-cet.in.th |
|
|
สื่อออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ รายการต่างๆที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผลิต ผู้ฟังและผู้ชม สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ YouTube, LINE OA, Facebook Fanpage, X (Twitter), TikTok หรือเว็บไซต์ ไม่ว่าคุณจะเลือกเรียนรู้ผ่านช่องทางไหน ทุกแพลตฟอร์มของเราพร้อมให้บริการเนื้อหาคุณภาพ เพื่อช่วยให้คุณก้าวสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด! |